เรื่องเกี่ยวกับ Starbucks เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการขึ้นราคาที่เพิ่งประกาศไป แต่เกี่ยวกับการเติมเงินเข้าแอปที่ผู้อ่านหลายๆคนก็คงทำกัน แล้วมันเป็นประเด็นได้ยังไงกัน?
เรื่องเกิดที่ประเทศสหรัญอเมริกา เมื่อกลุ่มพันธมิตรคุ้มครองผู้บริโภคแห่งวอชิงตัน (Washington Consumer Protection Coalition) กล่าวว่าแอปมือถือของ Starbucks ตั้งใจออกแบบให้เงินจำนวนน้อยๆในแอปไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งเป็นผลประโยชน์กับ Starbucks โดยตรง
กลุ่มพันธมิตรเขียนคำร้องเรียนเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ในกรณีที่ยอดเงินคงเหลือในแอปน้อยกว่าสินค้าที่ราคาถูกที่สุดในร้าน Starbucks เงินก็จะติดอยู่ในแอป แพลตฟอร์มไม่อนุญาตให้ผู้ใช้รวมเงินเข้ากับวิธีการชำระเงินอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าถ้าไม่อยากปล่อยให้เงินค้างอยู่ในแอปเปล่าๆ ก็ต้องเติมเงินเข้าไปในแอปเพิ่ม ซึ่งไม่ยุติธรรมกับผุ้บริโภค กลุ่มพันธมิตรเปรียบเทียบสิ่งนี้กับ "การสมัครสมาชิกโดยไม่สมัครใจ" ในแง่ที่เหมือนการสะกดจิตเบาๆต่อผู้ใช้งาน
“รูปแบบในการชำระเงินบนแพลตฟอร์มของ Starbucks เป็นหนึ่งในรูปแบบการหลอกลวงที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว ซึ่งออกแบบให้ลูกค้าชำระเงินล่วงหน้าสำหรับบริการของบริษัท” คำร้องเรียนระบุ “อัยการสูงสุดควรดำเนินการทันทีเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่ยุติธรรมและหลอกลวงของ Starbucks และทำให้ผู้บริโภคในวอชิงตันรู้สึกไม่ถูกเอาเปรียบอีกต่อไป”
Starbucks แก้ตัวว่า ที่จริงแล้วลูกค้าสามารถขอให้พนักงานในร้านรวมยอดคงเหลือในแอปกับวิธีการชำระเงินอื่นได้เพื่อใช้ในการจ่ายเงิน แต่ไม่บอกว่าทำไมไม่แจ้งเรื่องนี้ไว้ในแอป
“Starbucks ออกแบบแพลตฟอร์มการชำระเงิน เพื่อลวงให้ผู้บริโภคทิ้งเงินที่ยังไม่ได้ใช้ในบัตรและแอปของพวกเขา” Chris Carter ผู้จัดการแคมเปญของกลุ่ม กล่าวในแถลงการณ์ “เงินไม่กี่ดอลลาร์ที่ทิ้งไว้ในแอปอาจดูเหมือนไม่มากนัก แต่รวมกันทุกคนแล้วก็เป็นเงินมหาศาล ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา Starbucks ได้เคลมเงินดังกล่าวเป็นจำนวนเกือบ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเป็นเงินรายได้ของบริษัท ซึ่งช่วยเพิ่มผลกำไรขององค์กรและโบนัสผู้บริหารเกินความจริง”
ในการตอบข้อร้องเรียนอย่างเป็นทางการ Starbucks กล่าวว่า “พวกเรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับรัฐวอชิงตันเพื่อให้แน่ใจว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐทั้งหมด"
ในอดีตเคยมีเหตุการเกี่ยวกับการหลอกลวงผู้ใช้งานที่มีการปรับเงินจำนวนมากมาแล้ว เช่น Google และ Facebook ถูกหน่วยงานกำกับดูแลของฝรั่งเศสปรับในปี 2022 เนื่องจากตั้งใจสร้างความสับสนและความยุ่งยากในการปฏิเสธคุกกี้ Google ยังต้องจ่ายเงินเกือบ 40 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกาสำหรับการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งของผู้ใช้โดยที่พวกเขาไม่รู้ ในขณะเดียวกัน Amazon ถูกกล่าวหาว่าใช้ UI ที่หลอกลวงเพื่อให้ผู้ใช้งานสมัครใช้งาน Prime และทำให้การยกเลิกบริการเป็นเรื่องยากเกินความจำเป็น
เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในสหรัฐฯซึ่งกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งมาก ซึ่งในไทยไม่น่าจะมีประเด็นทางกฏหมายเกิดขึ้น แต่ถ้าบทสรุปที่สหรัฐฯออกมา คาดว่าจะส่งผลกระทบไปยังแอป Starbucks ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยของเราด้วยเช่นกัน
ที่มา: https://www.techspot.com/news/101413-starbucks-accused-using-dark-patterns-app-retain-nearly.html